|
|
|
|
|
|
หนังสือพิมพ์
โทรทัศน์
เว็บไซต์
|
|
|
|
|
|
14.01.67 |
|
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมประชุม ระดมสมองผู้นำในอาชีพ กำหนดแนวทางจัดทำมาตรฐานอาชีพรองรับตลาดใหม่ กับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ |
|
|
|
|
|
ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย พร้อมด้วย ดร.ณัฐบูรณ์ พรรัตนเจริญ กรรมการบริหารสมาคมฯ ร่วมประชุม Stakeholder Engagement การระดมสมองผู้นำในอาชีพ กำหนดแนวทางจัดทำมาตรฐานอาชีพรองรับตลาดใหม่ กับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้ร่วมประชุมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นผู้จัดประชุมผู้แทนหลากหลายสาขาอาชีพครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร บริการและการท่องเที่ยว โดยเป็นผู้แทนจากสมาคม สมาพันธ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อระดมสมอง ประสบการณ์ และความต้องการเพื่อนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานอาชีพและให้การรับรองด้วยคุณวุฒิวิชาชีพเป็นกำลังแรงงานคุณภาพที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริง
นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่าที่ผ่านมา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการในหลากหลายสาขาอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพที่สากลให้การยอมรับมาแล้วจนถึงปี 2566 จำนวนกว่า 1,000 อาชีพ ซึ่งแนวทางในปี 2567 ไปจนถึง 2570 มีทิศทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพครอบคลุมการพัฒนาประเทศใน 4 มิติ คือพัฒนาการผลิตและบริการเป้าหมาย ปัจจัยในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ความยั่งยืนในทรัพยากรธรรมชาติ และการพลิกโฉมประเทศไทย ความเห็นจากทุกฝ่ายจึงมีความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและนำไปสู่การให้การรับรองกำลังคนให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ประเทศด้วย
นางสาวจุลลดา มีจุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่าระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้การรับรองกำลังคนของประเทศว่ามีความรู้ ความสามารถ มีคุณภาพเก่งในด้านใดด้วยมาตรฐานอาชีพและนำไปสู่การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ที่เป็นเสมือนปริญญาทางอาชีพ ที่สอดคล้องความต้องการของสถานประกอบการ และตลาดแรงงานจริงๆ ขณะเดียวกันสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้เชื่อมโลกการศึกษา กับโลกการทำงานเข้าด้วยกันตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จะช่วยตอบโจทย์ให้กำลังคนของประเทศสามารถเลือกเส้นทางในชีวิตได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยการทำงาน หรือการศึกษาก่อน แต่ปลายทางสามารถเชื่อมสมรรถนะและการรับรองถึงกันได้ แต่การจะทำให้การจัดทำมาตรฐานอาชีพสำเร็จได้ก็คือการขับเคลื่อนไปสู่การรับรองด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ให้การยอมรับและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นด้วย
สำหรับการประชุมได้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลายต่อการจัดทำมาตรฐานอาชีพ อาทิ โดยสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้นำเสนอให้มีการพัฒนา เกี่ยวกับการรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพ ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชน ให้สอดคล้องกับนวัตกรรมทางการสื่อสารในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังมีอาชีพอื่นๆ อาทิ อาชีพซิมูเลชันทางการแพทย์ รองรับการเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ หรือ Medical Service Hub ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการรับรองให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ที่สำคัญสำหรับการแพทย์ทางไกลซึ่งมีผู้ใช้บริการค่อนข้างแออัด การให้การรับรองบุคลากรจะรองรับให้มีการกระจายตัวและช่วยลดความแออัดของผู้เข้ารับบริการ อันจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามยุทธศาสตร์ชาติ ขณะเดียวกันมีผู้เสนอให้จัดทำมาตรฐานอาชีพผู้ปลูกทุเรียนที่ขณะนี้มีการแข่งขันสูง และมีผู้ปลูกหน้าใหม่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในตลาดจีน ที่นำเทคโนโลยีมาใช้เรื่องการวัดอุณหภูมิ ดิน น้ำ จนนำไปสู่การพัฒนารสชาติให้ได้เหมือนทุเรียนไทย ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายและน่ากังวลเป็นอย่างมาก
มีข้อเสนอให้จัดทำมาตรฐานอาชีพ นักเขียนบท รองรับแพลตฟอร์มในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีอยู่หลากหลายแพลตฟอร์มในเวลานี้ และจะเป็นส่วนเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศได้, อาชีพนักพัฒนาการท่องเที่ยว รองรับบริบทการท่องเที่ยวปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักของประเทศ ซึ่งผู้ที่ประกอบอาชีพนี้จะช่วยประคับประคองบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และสอนให้ชุมชนได้รู้จักการรักษาและพัฒนาชุมชนตัวเองให้อยุ่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอให้จัดทำมาตรฐานอาชีพช่างไม้ที่จะช่วยสร้างความภูมิใจ สร้างการมีตัวตนและการยอมรับในสังคม เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการทำแบบครูพักลักจำ, อาชีพผู้ประกอบการโรงสีข้าว, ผู้ปลูกกัญชง และกัญชา, อาชีพผู้ตรวจประเมินไม้ยืนต้น เพื่อสร้างเกษตรปลอดภัย, ผู้ตรวจประเมินแปลงเกษตรอินทรีย์, อาชีพอาชีพนักพัฒนาผลิตภาพด้านดิจิทัล เมนูแฟคเจอริง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ, คลาวด์ เอ็นจิเนียร์, ผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ, Arts & Culture, อาชีพผู้ตรวจสภาพรถยนต์ไฟฟ้า, อาชีพนักพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร, อาชีพเกี่ยวกับพระเครื่อง เป็นต้น
ทั้งนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้รับฟังทุกความคิดเห็นเพื่อนำไปศึกษาต่อก่อนพิจารณาจัดทำเป็นมาตรฐานอาชีพ รวมถึงส่งต่อมาตรฐานอาชีพให้ภาคการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้นำไปปรับหลักสูตร การเรียนรู้และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ต่อไป |
|
|
|