06.12.66
 
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมงานเปิดตัวฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนล่าสุด ยกระดับวิสาหกิจชุมชน สร้างความตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อม คุ้มครองสิทธิและสุขภาพประชาชน
 
         ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ในฐานะคณะกรรมการนโยบายและบริหารงานฉลากเขียว มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมงานเปิดตัวฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดตัวฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค พร้อมนำร่อง 3 ผลิตภัณฑ์ หวังยกระดับวิสาหกิจชุมชน สร้างความตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อม คุ้มครองสิทธิและสุขภาพประชาชน ณ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ



         นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวในการเปิดตัวดังกล่าวว่า หัวใจสำคัญประการหนึ่งในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 และมลพิษจากสิ่งแวดล้อม คือ การใช้กลไกผู้ผลิตสินค้าที่ใส่ใจในการผลิตที่ลดการสร้างมลพิษ และกลไกผู้บริโภคที่ตื่นตัว มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหารอบด้าน โดยสะท้อนผ่านการทำงานของ สสส. ที่มุ่งเป้าในการแก้ไขปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อมในหลากหลายรูปแบบและตอบสนองปัญหาอย่างเร่งด่วน ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคนี้ เป็นตัวอย่างสำคัญในการสานพลังผู้เกี่ยวข้องทุกระดับที่ตั้งใจ ใส่ใจ เต็มใจ ผนึกกำลังแก้ปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะคนไทยอย่างมีทิศมีทาง “ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค (Chumchon label for the protection of the environment and consumers หรือ CEC) เป็นฉลากใหม่ของประเทศ มี 5 วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแสดงเจตนาเฉพาะอย่าง 1.ใช้สื่อสาร หรือจูงใจให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงสิทธิ์ของผู้บริโภค 2.สนับสนุนการยกระดับวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ พัฒนาไปสู่การวางจำหน่ายบนแฟลตฟอร์มชั้นนำของประเทศ 3.สร้างความตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วัสดุรีไซเคิล หรือนำไปรีไซเคิลได้ 4.ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ดิน อากาศ 5.สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ด้วยการรับประกันสินค้า มีข้อมูลสินค้า คำแนะนำที่ชัดเจน มีการทดสอบหรือควบคุมสินค้าเพื่อความปลอดภัยขณะใช้งาน”



        ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวว่า สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะสถาบันวิชาการอิสระ พัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการภาคสนามเพื่อช่วยท้องถิ่นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีต่างๆ ในสังคม เชื่อมโยงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งระดับประเทศและระดับโลก นอกจากนี้ยังศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาเกณฑ์ข้อกำหนดฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับการรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว สำหรับฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค หรือ ฉลาก CEC สถาบันฯ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาผลิตภัณฑ์จากชุมชน ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิต ไม่สามารถขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมที่มีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดที่เข้มงวด และมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสูง จึงไม่สามารถเข้าถึงตลาด หรือไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค “TEI สานพลัง สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนามาตรฐานฉลากที่ส่งเสริมการดำเนินการในระดับชุมชนอย่างเหมาะสม เพื่อรับรองความสามารถและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคถึงความปลอดภัยเมื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ มีกลุ่มเป้าหมายของฉลากนี้เป็นผู้ประกอบการโอทอป วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. ซึ่งสถาบันฯ ได้ MOU กับ สสว. ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ขอการรับรองฉลากเขียวอยู่แล้ว จึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับความร่วมระหว่างหน่วยงาน ในการพัฒนาเกณฑ์ข้อกำหนดและการรับรองฉลากใหม่ขึ้น เพื่อให้การรับรองกับผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์ พัฒนาศักยภาพการผลิตและบุคลากร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตลาดให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งในงานมีการสานเสวนา “ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชน คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ได้จริงหรือไม่” และกิจกรรมอบรมขั้นตอนการสมัครขอการรับรอง แนะนำหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการรับรอง แนวทางการตรวจประเมินสำหรับ 3 ผลิตภัณฑ์นำร่อง ได้แก่ 1.บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ 2.ผ้าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้า และ 3.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย”