06.11.66
 
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ในการจัดแสดงโขน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ”
 
         สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร



         ในโอกาสนี้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ผู้บริหารจากองค์กร บุคคลสำคัญจากหลายภาคส่วน ทั้งใน และต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดย ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมรับเสด็จฯ และชมการแสดงในครั้งนี้ด้วย



         จากการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงห่วงใยว่าศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงโขน จะเลือนหายไป จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้รวบรวมครูผู้เชี่ยวชาญและศิลปิน ศึกษาค้นคว้าศาสตร์และศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาของการแสดงโขน โดยในปีพุทธศักราช 2546 เป็นต้นมา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ ได้ดำเนินการฟื้นฟูจัดสร้างเครื่องแต่งกาย ศิราภรณ์ หัวโขนและเครื่องประดับทุกชนิดขึ้นมาใหม่ ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขน และส่งเสริมให้ครูผู้เชี่ยวชาญโขนฝึกฝนเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อสืบทอดการแสดงโขนต่อไป



         ในปี 2566 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ ได้จัดการแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” โดยยึดแนวบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่หลังจากที่กุมภกรรณ ทำศึกโมกขศักดิ์กับพระลักษมณ์แต่ไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถสังหารพระลักษมณ์ได้ จึงคิดหาวิธีทำกลศึก โดยนิมิตกายลงไปใต้น้ำทำพิธีทดน้ำนอนขวางแม่น้ำไว้เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม นอกจากการแสดงที่วิจิตรโดยนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ จนมีฝีมือการร่ายรำอันสวยงาม ถูกต้องตามจารีต



         การแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” นี้ ได้สร้างสรรค์ ให้มีความโดดเด่นจากเทคนิคพิเศษอันตระการตามาหยิ่งขึ้น อาทิ ฉากกุมภกรรณทดน้ำเพื่อไม่ให้ไหลไปสู่พลับพลา ฉากหนุมานแปลงกายเป็นเหยี่ยวใหญ่ ฉากหนุมานดำลงสู่ใต้น้ำ รวมถึงความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต ตลอดจนการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ ด้วยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และผสมผสานนวัตกรรมร่วมกับงานศิลปวัฒนธรรม ได้อย่างงดงาม กลมกลืน